จุกหน้าอก

จุกหน้าอก

อาการที่จะบ่งบอกให้รู้ว่าท่านกำลังจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร คือผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารนั้นจะมีอาการปวดแสบ เสียด หรือจุกหน้าอกซึ่งจะเกิดขึ้นได้ทั้งเวลาก่อนรับประทานอาหารและหลังรับประทานอาหาร สำหรับผู้ที่มีอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหารมักจะมาจากกรดในกระเพาะอาหารมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองจนส่งผลเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร และจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ก่อนและหลังเวลารับประทานอาหาร ซึ่งอาการปวดท้องจะทุเลาลงได้หลังจากที่ได้รับประทานอาหารเข้าไป ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารนั้นจะต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องหากไม่เข้ารับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุได้

โรคกระเพาะอาหารมีสาเหตุและอาการอย่างไร ?

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารนั้นมาจากการเสียสมดุลของกรดที่หลั่งออกมาแล้วไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งเยื่อบุกระเพาะอาหารนั้นจะมีความต้านทานกรดได้ไม่ดี และปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะนั้นจะมาจากการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา ซึ่งอาจมาจากความเครียด ความกังวล ที่มักพบได้บ่อยในสังคมการทำงาน อาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ตรงเวลา การอดอาหาร การรับประทานอาหารที่มีรสจัด การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานยาแก้ปวดจำพวก Aspirin ยาลดการอักเสบเป็นประจำ และอีกหนึ่งสาเหตุของโรคที่สำคัญ คือ การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ที่มีการถ่ายทอดจากคนสู่คน จากการรับประทานอาหาร เชื้อจะเข้าสู่กระเพาะอาหารและเลื่อนเข้าสู่เซลล์เยื่อบุผิว ซึ่งเชื้อนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

ในส่วนของอาการนั้นจะมีอาการปวดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ บริเวณใต้ลิ้นปี่ ซึ่งเวลาที่เกิดอาการปวดนั้นมักจะสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่นอาจเกิดก่อนรับประทานอาหารหรือหลังรับประทานอาหาร ซึ่งจะมีอาการจุกหน้าอก ปวดแสบ หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ เรอเปรี้ยว กรณีที่ผู้เป็นโรคกระเพาะอาหารมีแผลบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นมักมีอาการปวดท้องหลังรับประทานอาหารประมาณ 1 – 3 ชั่วโมงหรือในขณะที่ท้องว่า ซึ่งจะมีอาการปวดมากขึ้นในช่วงบ่าย เย็น ตอนดึกและอาการจะดีขึ้นทันหลังรับประทานอาหาร หรือรับประทานยาลดกรดเข้าไป

อาการเตือนว่าใกล้เป็นโรคกระเพาะอาหาร เป็นยังไง ?

  • ผู้เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคกระเพาะอาหารจะมีความรู้สึกปวดท้องเมื่อท้องว่างบริเวณท้องส่วนบน ตั้งแต่บริเวณใต้ลิ้นปี่ลงไปถึงเหนือสะดือ อาการอาจดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิมหลังรับประทานอาหาร
  • ผู้เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคกระเพาะอาหารอาจมีอาการท้องอืด อิ่มง่าย อิ่มเร็ว รับประทานอาหารได้ไม่มาก ไม่มีความอยากอาหาร อาจมีอาการเรอบ่อย มีอาการท้องเฟ้อ และมีอาการอาหารไม่ย่อยร่วมด้วย
  • อาจมีอาการปวดท้องเวลาดึก และรู้สึกคลื่นไส้ และอาเจียนได้
  • อาจมีอาการปวดแสบร้อนท้อง จุกหน้าอก จากการที่ผนังกระเพาะอาหารมีการอักเสบหรืออาจจะมีแผลที่ผนังกระเพาะ เมื่อน้ำย่อยที่มีสภาวะความเป็นกรดสัมผัสที่ผนังกระเพาะอาหาร จึงทำให้มีอาการแสบร้อนท้องได้
  • อาจมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรืออาจถ่ายอุจจาระปนมูกเลือดได้
  • อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือมีอาการในช่วงที่รับประทานยาในกลุ่มยาแอสไพริน ยาระงับปวดข้อ ปวดกระดูก 

โรคกระเพาะอาหารอักเสบป้องกันอย่างไร ?

การเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบนั้นไม่ได้มีอะไรบ่งบอกที่แน่ชัดแต่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร และควรระมัดระวังในการรับประทานยาในกลุ่มบรรเทาอาการปวด ซึ่งจะพบได้บ่อยในการเกิดโรคกระเพาะอาหารนี้ และโรคนี้ก็ยังสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลความสะอาด การรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและยังรวมไปถึงหยุดพฤติกรรมที่ส่งผลให้อาการแย่ลง ซึ่งควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรคที่อาจปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายก่อนและหลังรับประทานอาหารควรล้างมือเสมอ
  • เพื่อเป็นการลดโอกาสการปนเปื้อนของเชื้อโรคควรเลือกรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ถูกสุขลักษณะ
  • เพื่อให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารเป็นไปตามปกติควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาและควรรับประทานในปริมาณที่พอดีในแต่ละมื้อ
  • พยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่จะไปกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารรสจัด หรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดสูงหรือมีไขมันมาก
  • เพื่อเป็นการป้องกันการก่อให้เกิดความผิดปกติของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ
  • เพื่อเป็นการลดความเครียดที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารควรหากิจกรรมทำเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย
  • หากต้องรับประทานยาในกลุ่มบรรเทาอาการปวด ปวดข้อ ปวดกระดูก โดยเฉพาะยาแอสไพริน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงปริมาณการใช้และความเหมาะสม

โรคกระเพาะอาหาร โรคที่เกิดจากการอักเสบบริเวณเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันซึ่งจะเป็นในระยะสั้น ๆ และจะหายได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์ ซึ่งอาจจะมีอาการจุกหน้าอกร่วมด้วยและมีอาการบ่อยครั้งเป็นระยะเวลานานจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดแผล และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ และเมื่อเป็นแล้วควรหาวิธีรักษาด้วยการเข้าพบแพทย์